Tel. : (662) 9920096-99 , Fax : (662) 9920100
     Mobile : (661) 8743204, (661) 8194648

www.muaythai-institute.net   
E-mail :
[email protected]
Thailand Argentina Australia Austria Belgium Brazil Cameroon Canada China Denmark Finland France Germany Hong Kong Iceland India Ireland Japan Italy South Korea Latvia Mexico Netherlands
MuayThai Institute in Magazines / Books

‘อำนวย เกษบำรุง’กำปั้นสร้างชีวิต เจ้าตำรับ
ร.ร. มวยไทยยุคใหม่
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 กรกฎาคม 2549 11:12 น.


ปัจจุบันมวยไทยเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ถึงความเป็นที่สุดของศิลปะป้องกันตัว ทำให้มีเปิดสถาบันสอนจำนวนหลายแห่ง ทว่า ถ้าจะกล่าวถึงต้นตำรับต้องเป็น “โรงเรียนมวยไทย” ภายใต้การดูแลของ “อำนวย เกษบำรุง” อดีตนักมวยเก่าที่ก้าวมาเป็นเจ้าของกิจการแห่งนี้


อำนวย เกษบำรุง

อำนวย เกษบำรุง หนุ่มใหญ่เมืองสุพรรณบุรี เล่าว่า ชีวิตวัยเด็กก็เป็นเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป พอมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จะต้องนัดไปชกกันที่หลังวัด ในตัวจึงซึมซับเสน่ห์การต่อสู้ด้วยมวยไทยมาตลอด กระทั่ง ช่วงวัยหนุ่มเข้ารับราชการเป็นทหาร และมีโอกาสฝึกฝนวิชามวยทั้งไทยและสากล จนเป็นนักกีฬาของกองทัพบก ดีกรีเกือบจะไปแข่งกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ แต่พลาดท่าแพ้ในการคัดตัวนัดชิงชนะเลิศ

หลังจากแขวนนวมแล้ว ตั้งค่ายมวยไทยของตัวเอง อาทิ ค่ายศิษย์สยาม ลูกรังสิต เป็นต้น และเป็นโปรโมเตอร์จัดมวย ให้เวทีมวยรังสิต ซึ่งในเวลาต่อมา ราว พ.ศ. 2509 ซื้อกิจการสนามมวยแห่งนี้ มาดูแลเป็นนายสนามมวยเอง ด้วยเงินประมาณ 200,000 บาท

ส่วนที่มาเปิดเป็นโรงเรียนมวยไทย มาจากแนวคิดของพล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก และพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่เห็นว่า “มวยไทย” กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก แต่ขาดการควบคุม ทำให้มีการสอนอย่างไร้ระบบ มีการจัดแข่งโชว์จ้างนักมวยไทยให้ “ล้มมวย” เวลาแข่งขันกับนักมวยต่างชาติ ถ้าปล่อยไว้ชื่อเสียงศิลปะมวยไทยจะถูกทำลายไป จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการมวยไทยมาประชุม และจัดตั้งเป็นสภามวยไทยโลกขึ้น เป็นองค์กรหลักในการควบคุม และเผยแพร่กีฬามวยไทย มีสมาชิกถึง 78 ประเทศ



หลังจากนั้น สมาชิกเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดตั้งโรงเรียนมวยไทยขึ้น เพื่อให้การเรียนการสอนมวยไทยอยู่ในมาตรฐานตามแบบสากลเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ผู้ใหญ่ในวงการมวยไทยหลายท่าน จึงช่วยผลักดันให้เขาตั้งโรงเรียนมวยไทยขึ้น ประมาณพ.ศ. 2540 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนมวยไทยที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของไทย และของโลก โดยสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดสอนภายในสนามมวยรังสิต

งัดหลักสูตรเข้าระบบมาตรฐาน

เจ้าของโรงเรียนมวยไทย เผยว่า การจัดทำหลักสูตร ระดมความคิดจากอดีดนักมวย และกรมพลศึกษา แบ่งเป็น 4 ขั้น โดย 3 ขั้นแรก เป็นระดับพื้นฐานตั้งแต่เริ่มแรก ใช้เวลาเรียนขั้นละ 40 ชั่วโมง ค่าเรียนคนไทย 2,000 บาท / ต่างชาติ 160 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีการสอบประเมินผล เพื่อขยับไปแต่ละขั้น ส่วนขั้นที่ 4 สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนถึงระดับสามารถขึ้นเวทีจริงได้ เจาะลึกแม่ไม้มวยไทยต่างๆ ใช้เวลาเรียน ถึง 300 ชั่วโมง คิดอัตราคนไทย 30,000 บาท / ต่างชาติ 1,200 เหรียญสหรัฐ


ส่วนครูสอนกว่า 10 คน ทั้งผู้จบด้านพลศึกษา กับอดีตนักมวยไทย แต่ละเดือนจะมีผู้เข้ามาเรียนเดือนละหลายร้อยคน ทั้งไทยและต่างประเทศในจำนวนใกล้เคียงกัน โดยคนไทย ส่วนใหญ่จะเรียนเพื่อออกกำลังกาย หรือป้องกันตัว ส่วนชาวต่างประเทศ จะเรียนแบบจริงจัง เพราะสนใจในแม่ไม้มวยไทย หรือมาเรียน เพื่อจะกลับไปเปิดโรงเรียนมวยไทยยังประเทศของเขา




“ทั่วโลก เขาอยากรู้ และอยากสัมผัสถึงมวยไทยที่แท้จริง เพราะเขายอมรับแล้วว่า มวยไทยเป็นสุดยอดของศิลปะป้องกันตัวที่อันตราย เด็ดขาด ใช้อาวุธได้ทุกส่วน ซึ่งชาวต่างชาติ ยอมลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียน ส่วนคนไทยก็สนใจกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิง หรือพวกดารา อย่างโจอี้ บอย ทัช เจมส์ ก็เคยมาเรียนที่นี่”

ทั้งนี้ ภายโรงเรียนมวยไทยแห่งนี้ ประกอบด้วย เวทีซ้อมซึ่งสามารถใช้ทำการแข่งขันได้ จำนวน 2 เวที แบ่งออกเป็นเวทีมวยชาย และเวทีมวยหญิง ห้องออกกำลังกาย ห้องสมุด ห้องเรียนภาคทฤษฎี และห้องเรียนภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการแสดงถึงการแข่งขันมวยไทยตั้งแต่ยุค คาดเชือกมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วย



ด้านหน้าโรงเรียนมวยไทย

ชวน ร.ร.มวยไทยทุกแห่งเข้าระบบ

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นกังวลของเขา คือ จนถึงวันนี้ โรงเรียนแห่งนี้ ยังเป็นสถาบันแห่งเดียว ที่มีการเรียนการสอนมวยไทย อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนที่มีเปิดสอนกันทั่วไป ยังเป็นแบบต่างคนต่างสอน ไม่มีหลักสูตรตายตัว และที่เลวร้ายกว่านั้น สอนมวยไทยแบบผิดๆ เพื่อไปโชว์ตามผับบาร์ จึงอยากขอให้สถาบันต่างๆ ที่เปิดสอนมวยไทยอยู่ขณะนี้ ได้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อวางมาตรฐานมวยไทยให้มีคุณภาพเดียวกัน

“ผมอยากให้ทุกโรงเรียนเข้ามาอยู่ในระบบ ให้มีการสอนเหมือนกัน อย่ามองมวยไทยเป็นธุรกิจมากเกินไป ผมอยากให้มวยไทยรักษาคุณภาพ ผมไม่กังวลเลย ถ้าจะมีโรงเรียนอื่นเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเปิดแข่ง เพราะคิดว่า จะเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า ให้มวยไทยดังยิ่งขึ้น และการสอนก็ไม่ต้องไปกักวิชา ไม่ต้องกลัวกว่าฝรั่งจะเก่งกว่า เพราะมวยเป็นกีฬา ซึ่งวัดกันที่ความสามารถ การฝึกฝน และความพยายาม ถ้าเขาเก่งกว่าก็ต้องยอมรับ”


ชักภาพร่วมกับลูกศิษย์ และครูสอนของโรงเรียน

ส่วนแผนพัฒนาโรงเรียนมวยไทยของตน กำลังไปเปิดสาขาที่นครกวางโจว ประเทศจีน เพราะคนจีนสนใจเรียนมวยไทยเป็นอย่างมาก คาดว่าต้องลงทุนหลายสิบล้าน โดยกำลังหาหุ้นส่วนกับคนท้องถิ่น แต่มีเงื่อนไขว่า ครูสอนต้องเป็นคนไทย

อำนวย ทิ้งท้ายถึงปัญหาของโรงเรียนมวยไทยว่า ภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมมวยไทยเท่าที่ควร แม้ทุกวันนี้ ชาวต่างชาติ สนใจเดินทางเข้ามาเรียนมวยไทยจำนวนมาก แต่ต้องคอยต่อวีซ่าบ่อยๆ เพราะมีระยะเวลาอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยว ไม่สะดวกในการเรียนแบบระยะยาว ทั้งที่เคยเรียกร้องไปหลายครั้งแล้วว่า อยากให้กลุ่มคนเหล่านี้ ได้สิทธิ์พิเศษขยายเวลาวีซ่าเป็นพิเศษ โดยโรงเรียนจะมีหนังสือรับรองยืนยัน แต่ก็ไม่ได้รับสนอง


Back to Main Page

Home | Program | Courses | History | Wai Kru | Mae Mai | News | Masters | Map | Location | Certificate | President | Contact Us
- - - Create by : Bird - - -